มาดูอุโมงค์ยักษ์ รับมือน้ำท่วมกทม. ยืนยันระบายน้ำได้จริง!!
Mthainews: หลังจากที่ปีมหาอุทกภัย 2554 ที่ผ่านมา เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ในหลายจังหวัดรวมไปถึงกรุงเทพมหานคร จนหลายฝ่ายต้องเร่งหาวิธีป้องกัน แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณน้ำฝนในปีนี้ ซึ่งปริมาณน้ำได้เพิ่มระดับสูงขึ้นอีกครั้ง น้ำยมทะลักพังลอดพนังกั้นน้ำในจังหวัดสุโขทัย เกิดน้ำท่วมตัวเมืองอย่างหนัก และส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนในหลายพื้นที่เสี่ยง ในเขตจังหวัดพิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา
ภาพเหตุการณ์น้ำท่วม ปี 2554
นอกจากนี้ จังหวัดที่อยู่ลุ่มน้ำ อย่างนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และกทม.ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปริมาณน้ำอาจทะลักเข้าท่วมขังบางพื้นที่ หรือที่เรียกน้ำท่วมฉับพลัน เกิดจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยในช่วงวันที่ 13-17 กันยายนนี้
อุโมงค์ยักษ์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกทม. ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.ได้ทำพิธีเปิดไปแล้วในบางจุด โดยที่ชาวบ้าน ประชาชนต่างก็หวังว่า อุโมงค์ยักษ์จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนเพื่อเป็นทางผันน้ำออกสู่ทะเล โดยโครงการดังกล่าว ทำการก่อสร้างทั้งสิ้น 4 แห่ง คือ
1. อุโมงค์ยักษ์พระราม9-รามคำแหง เป็นอุโมงค์ระบายน้ำแห่งแรกในโครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ สามารถระบายน้ำได้ปริมาณมากกว่า 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 5 เมตร ระยะทางยาว 5 กิโลเมตร แก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ ลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ ห้วยขวางและสะพานสูง แต่ปัญหาที่พบคือ ขยะมากถึงวันละ 10 ตัน เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ เพราะไปขวางทางเครื่องสูบน้ำ
2. อุโมงค์ยักษ์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร ระบายน้ำในเขตพื้นที่ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร พญาไท ดุสิต และบางซื่อ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร เส้นทางยาว 6 กิโลเมตร
3. อุโมงค์สวนหลวง ร.9 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร มีความยาวอยู่ที่ 9.5 กิโลเมตร ประสิทธิภาพในการระบายน้ำอยู่ที่ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
4. อุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง มีความยาวที่สุด และขนาดใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 6 เมตร ยาว 13.5 กิโลเมตร
3. อุโมงค์สวนหลวง ร.9 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร มีความยาวอยู่ที่ 9.5 กิโลเมตร ประสิทธิภาพในการระบายน้ำอยู่ที่ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
4. อุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง มีความยาวที่สุด และขนาดใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 6 เมตร ยาว 13.5 กิโลเมตร
โครงการนี้เป็นโครงการยักษ์ ใช้งบประมาณเงินลงทุนมหาศาล ซึ่งจะต้องมีวิธีการจัดการที่ถูกต้อง แต่ก็มีปัญหาอยู่คือ อุโมงค์ยักษ์ไม่ทำงาน และมีอุปสรรคทำให้ลำเลียงน้ำมาระบายน้ำไม่ได้
ก่อนหน้านี้ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทยได้สอบถามเจ้าหน้าที่ถึงปัญหาดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า รัฐบาลให้คลองสามวาเป็นสถานีสูบน้ำ และลำเลียงน้ำมาระบายที่อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำคลองแสนแสบ ขณะนี้มีปัญหาการลำเลียงเข้าปากอุโมงค์พระราม 9 เนื่องจากติดคอขวดที่ประตูระบายน้ำ ซึ่งรับน้ำมาจากคลองแสนแสบได้ขวางกั้นทางน้ำไว้ จึงทำให้ระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างล่าช้า และระบายน้ำได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งกทม.ไม่ได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้
ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ค
ชาวกทม.ยังคงตั้งคำถามว่า หากเกิดน้ำท่วมอุโมงค์ยักษ์แห่งนี้จะทำงานได้หรือไม่?? จะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เนื่องจากพบว่ายังมีปัญหาในเรื่องการลำเลียงน้ำเหมือนปี 2554 โดยน้ำที่ถูกส่งมาระบายน้ำยังติดคอขวด ทำให้ผลักดันน้ำไม่ทัน จึงเสียดายที่อุโมงค์ยักษ์ไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มสูบ
อย่างไรก็ตาม พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวหลังจากประชุมกับสำนักการระบายน้ำ เพื่อเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วม กทม. ว่า จะพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำ โดยเฉพาะอุโมงค์ยักษ์ว่า ยังทำงานได้จริง ไม่ให้มีการเข้าใจผิดในสังคมออนไลน์ ส่วนน้ำท่วมที่ด้านเหนือ กทม. พร้อมให้ผันมีการระบายน้ำไป กทม. ฝั่งตะวันออก และตะวันตก ส่วนหนึ่งการระบายน้ำทางแม่น้ำเจ้าพระยา ยังทำได้อยู่
จะใช้ได้ผลจริงตามที่ทางกทม.ออกมาให้ความมั่นใจหรือไม่นั้น ต้องรอลุ้นกันว่า ปริมาณน้ำจะมากเหมือนเช่นปีที่ผ่านมาหรือไม่ และอุโมงยักษ์ จะเป็นอุโมงค์มหัศจรรย์ผันน้ำออกกทม.แก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด …
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น