
แผนภาพแสดงปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” / ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เชิญชวนประชาชนร่วมชมปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน และดาวเคราะห์ชุมนุม ในเดือนสิงหาคมนี้
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคมจะมีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่น่าติดตาม โดยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เวลาประมาณ 04.00 น. ดาวศุกร์จะปรากฏเคียงข้างดวงจันทร์เสี้ยว 12 ค่ำ ทางใต้ของดวงจันทร์ประมาณ 0.56 องศา ทั้งนี้ หากสภาพท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีเมฆ จะสามารถมองเห็นความสวยงามของดาวเคียงเดือนด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีนับเป็นดาวเคราะห์สองดวงที่มีความสว่างเป็น อันดับ 1 และ 2 บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก

แผนภาพแสดงปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์ชุมนุม”
นอก จากนี้ในช่วงค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันที่ 22 สิงหาคม ดาวเสาร์ ดาวอังคาร ดาวสไปก้า ( Spica ) จะมาชุมนุมกันเคียงดวงจันทร์ข้างขึ้น 5 ค่ำ ที่ปรากฏเป็นเสี้ยวบางๆ บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวเคราะห์ทั้งสามดวงมีความสว่างพอกัน แต่มีสีที่ปรากฏต่างกัน จะเห็นดาวเสาร์เป็นสีเหลือง ดาวอังคารเป็นสีส้ม และดาวสไปก้าเป็นสีขาว สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในทุกภูมิภาคของประเทศ
ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดาวเคียงเดือนและดาวเคราะห์ชุมนุมนี้ เป็นเพียงมุมปรากฏบนท้องฟ้า ซึ่งดาวเคราะห์แต่ละดวงจะกระจายอยู่ตามวงโคจรของดาวดวงนั้น ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เหตุการณ์ดาวเคียงเดือนและดาวเคราะห์ชุมนุมนี้ถือเป็นเรื่องปกติในทาง ดาราศาสตร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น